ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา “โครงการกระบวนการศึกษาจุลินทรีย์ในลำไส้ด้วยเทคนิค Next-generation sequencing"
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ กรรมการ บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ บีเคเคจีไอ (BkkGI) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา “โครงการกระบวนการศึกษาจุลินทรีย์ในลำไส้ด้วยเทคนิค Next-generation sequencing โดยอาศัยเครื่อง DNBSEQ-G50 (DNBSEQ-G50) ตั้งแต่การเตรียม library, การตรวจสอบรหัสพันธุกรรม และการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมทาง Bioinformatics” ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัทแบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ บีเคเคจีไอ (BkkGI) โดยมี ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. และดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล กรรมการบริษัทฯ เป็นสักขีพยาน
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสอันดียิ่งที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand : NBT) ได้ทำความร่วมมือกับบริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จํากัด (มหาชน) ทำการศึกษาวิจัยความหลากหลายจุลินทรีย์ในลำไส้ของประชากรไทยที่มีสุขภาพดี เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นระบบสารสนเทศที่ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลจุลินทรีย์ในลำไส้ของประชากรไทย สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดความก้าวหน้าในงานวิจัยใหม่ ๆ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงสังคมและพาณิชย์ ตลอดจนขับเคลื่อนสังคมยุคใหม่ที่ดูแลสุขภาพด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถรักษาสมดุลในการใช้ทรัพยากรตามกรอบความคิดโมเดลเศรษฐกิจ ‘BCG Economy Model’ อันเป็นวาระแห่งชาติ
“โดยจุดประสงค์ของความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้คือ ส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเมตาจีโนมิกส์ หรือการศึกษาจุลินทรีย์ในลำไส้ ด้วยเทคโนโลยี Next-generation sequencing หรือ NGS และการวิเคราะห์ข้อมูลชีวนิเวศจุลชีพลำไส้ หรือ Gut microbiome ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดสายพันธุ์มาจากมารดาตั้งแต่แรกคลอด รวมถึงการรับจุลินทรีย์มาจากอาหาร และยาที่มนุษย์รับเข้าสู่ร่างกาย การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น ได้แก่ ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือวิเคราะห์พันธุกรรม และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยความร่วมมือนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการ ซึ่งจะเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับเมตาจีโนมิกส์ของมนุษย์ และสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในการพัฒนาสุขภาพที่ดีในอนาคตได้” รองผู้อำนวยการ สวทช. ระบุ
นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ กรรมการบริษัทฯ กล่าวว่า บริษัทแบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จํากัด (มหาชน) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือศึกษาวิจัยความหลากหลายจุลินทรีย์ในลำไส้ของประชากรไทยที่มีสุขภาพดี กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นระบบสารสนเทศที่เป็นฐานข้อมูลจุลินทรีย์ในลำไส้ของประชากรไทยในอนาคต โดย บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชากรไทย ในด้านการส่งเสริมเทคโนโลยีการตรวจที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาบุคลากรในประเทศ รวมถึงการขยายความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับ สวทช. อย่างต่อเนื่องในอนาคต”
“การลงนามในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการร่วมมือวิจัยโดยการแบ่งปันความชำนาญของทั้งสององค์กร ทั้งความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยของ สวทช. และ ความชำนาญการด้านการให้บริการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของ บีเคเคจีไอ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถตอบโจทย์ในงานวิจัยเกี่ยวกับเมตาจีโนมิกส์ของกลุ่มประชากรที่ศึกษาได้ แต่ยังสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยครั้งนี้ ไปพัฒนาต่อยอดงานบริการเกี่ยวกับสุขภาพที่ดีของมนุษย์ในอนาคตได้”
นอกจากนี้ บีเคเคจีไอ ยังคงมีนโยบายมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมด้านการวิจัยด้านสุขภาพที่ดีของมนุษย์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านความร่วมมือกับสถานบันต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อพัฒนานักวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
ที่มา : https://www.nstda.or.th/home/news_post/mou-nstda-nbt-bkkgi/